เปิดภารกิจเร่งด่วนของ 200 สว. “ชุดกติกาพิสดาร”

เปิดภารกิจเร่งด่วนของ 200 สว. “ชุดกติกาพิสดาร”

เปิดภารกิจเร่งด่วนของ 200 สว. “ชุดกติกาพิสดาร”

หากไม่มีอะไรผิดพลาด คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะประกาศรับรองผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในวันที่ 3 ก.ค. นี้ ซึ่งจะเป็นวันเริ่มนับสมาชิกภาพของ 200 สว. “ชุดกติกาพิสดาร”

หนึ่งวันก่อนหน้านั้น 250 สว. “ชุดเฉพาะกาล” ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะพ้นจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการ หลังอยู่กับคนไทยมายาวนาน 5 ปี 54 วัน

แม้ สว. ชุดใหม่สามารถเอาชนะคู่แข่งขันภายใต้กติกาที่ “ซับซ้อนที่สุดในโลก” มาได้ ทั้งในรอบ “เลือกตัวเอง-เลือกกันเอง” ในกลุ่มอาชีพรวม 20 กลุ่ม และ “เลือกไขว้” กลุ่มร่วมสาย รวม 3 ระดับ ซึ่งปิดท้ายด้วยการเลือกทรหดข้ามวันข้ามคืนในระดับประเทศ

แต่เมื่อสังคมได้เห็นโฉมหน้าของว่าที่สมาชิกสภาสูง เสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวางก็ดังขึ้น ทั้งเรื่อง “คุณสมบัติไม่ตรงปก” และข้อครหาเรื่องเป็นเครือข่ายของนักการเมือง “บ้านใหญ่-ค่ายสีน้ำเงิน” เกินค่อนสภา แต่ถึงกระนั้น พวกเขาต้อง “รับไม้ต่อ” จาก สว. รุ่นพี่ ทำ 4 ภารกิจสำคัญตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

ในช่วง 180 วันแรกของวุฒิสภาชุดที่ 13 (ก.ค.-ธ.ค.) มีภารกิจสำคัญอะไรรออยู่บ้าง บีบีซีไทยรวบรวมมาไว้ ณ ที่นี้

เคาะชื่อ 12 กก. องค์กรอิสระ

หนึ่งในอำนาจที่สำคัญของ สว. คือ การพิจารณาและให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลเพื่อเข้าดำรงตำแหน่งใน 6 องค์กรอิสระ และ 7 ตำแหน่งในองค์กรอื่นตามที่กฎหมายกำหนดเอาไว้

ที่ผ่านมา มีองค์กรอิสระอย่างน้อย 3 องค์กร - ศาลรัฐธรรมนูญ, คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) - ที่ถูกนักวิชาการและนักการเมืองฝ่ายค้านและเครือข่ายวิจารณ์ว่าทำหน้าที่ “สองมาตรฐาน” และตกเป็นเป้าหมายในการ “รื้อโครงสร้าง”

ขณะเดียวกันบรรดาผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองยังจับตาดูว่าปรากฏการณ์ “บ้านใหญ่ยึดสภาสูง” คือก้าวแรกของเข้าการคุมองค์กรอิสระหรือไม่

ปัจจุบันองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญยังมีองค์ประกอบแบบ “ลูกผสม” บางส่วนมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. เป็นผู้เคาะชื่อ และบางส่วนมี สว. ชุดเฉพาะกาล เป็นผู้เคาะชื่อ

เปิดภารกิจเร่งด่วนของ 200 สว. “ชุดกติกาพิสดาร”

ภายในปี 2567 จะมีกรรมการองค์กรอิสระหมดวาระลง 12 คน จาก 4 องค์กร โดยที่ สว. ชุดใหม่ต้องเป็นผู้ให้ความเห็นชอบแต่งตั้ง ซึ่งบางตำแหน่งอาศัย “เสียงเกินกึ่งหนึ่ง” และบางตำแหน่งอาศัย “เสียงข้างมาก” ของวุฒิสภา

  • ก.ย. คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เกือบยกชุดรวม 6 จากทั้งหมด 7 คน จะครบวาระ ประกอบด้วย พล.อ.ชนะทัพ อินทามระ ประธาน, ยุพิน ชลานนท์นิวัฒน์, พิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์, จินดา มหัทธนวัฒน์, สรรเสริญ พลเจียก, อรพิน ผลสุวรณ์
  • พ.ย. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะครบวาระ 2 จากทั้งหมด 9 คน คือ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธาน, ปัญญา อุดชาชน
  • พ.ย. ผู้ตรวจการแผ่นดินจะครบวาระ 1 จากทั้งหมด 3 คน คือ สมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธาน
  • ธ.ค. กรรมการ ป.ป.ช. จะครบวาระ 3 จากทั้งหมด 9 คน คือ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน, สุวณา สุวรรณจูฑะ และ วิทยา อาคมพิทักษ์

นอกจากตำแหน่งข้างต้นที่ สว. ชุดใหม่จะได้พิจารณาทั้งกระบวนการแล้ว ยังมี 2 ตำแหน่งสำคัญในองค์กรอื่นตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ที่วุฒิสภาชุดเดิมแต่งตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อทำหน้าที่สอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง ไปตั้งแต่ 18 มิ.ย. แล้วต้องนำรายงานมาขอความเห็นชอบจากวุฒิสภาชุดใหม่ คือ ประสิทธิศักดิ์ มีลาภ ผู้ได้รับเสนอชื่อให้เป็นประธานศาลปกครองสูงสุดคนใหม่ และ รัช พรสมบูรณ์ศิริ ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นอัยการสูงสุดคนใหม่

เปิดภารกิจเร่งด่วนของ 200 สว. “ชุดกติกาพิสดาร”

หนึ่งในอำนาจที่สำคัญของ สว. คือการคัดกรองผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ

รื้อรัฐธรรมนูญ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 คือภารกิจสำคัญที่ทำให้ใครหลายคนตัดสินใจลงชิงเก้าอี้ สว. หลังพบว่าวุฒิสมาชิกชุดก่อนคืออุปสรรคสำคัญในการสกัดกั้นการรื้อรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 เพื่อรื้อถอน “ระบอบประยุทธ์”

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สว. ชุดเฉพาะกาล โหวต “ยับยั้งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ไปถึง 25 ฉบับ โดยมีเพียงร่างเดียวที่ สว. ยกมือผ่านให้ จนได้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย

ร่างแก้ไขร้ฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เสนอโดยหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล “ประยุทธ์ 2” เพื่อแก้ไขมาตรา 83 และมาตรา 91 (แก้ไขระบบเลือกตั้ง สส. โดยยกเลิกระบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” แล้วกลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เพื่อเลือก สส.เขต กับ สส.บัญชีรายชื่อ)

“แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้เป็นนายกฯ แล้ว แต่ระบอบประยุทธ์ยังอยู่กับเราในรูปแบบรัฐธรรมนูญ 2560 คุณประยุทธ์ไม่อยู่แล้ว แต่ตัวระเบียบที่ก่อร่างสร้างตัวคณะรัฐประหารยังอยู่กับเรา” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวในวันแถลงเปิดแคมเปญ “สว. ประชาชน” เพื่อรณรงค์ให้คนธรรมดาร่วมลงสมัคร สว.

อย่างไรก็ตามมีกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “สว. ประชาชน” หลุดเข้าสภาสูงได้เพียง 28 คนเท่านั้น จากเป้าหมายขั้นต่ำ 67 คน

ภายใต้เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบจาก สว. ในวาระที่ 1 และวาระที่ 3 ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของวุฒิสภา หรือ 67 จากทั้งหมด 200 คน

เปิดภารกิจเร่งด่วนของ 200 สว. “ชุดกติกาพิสดาร”

ผู้สมัครที่เรียกตัวเองว่า “สว. ประชาชน” ได้รับเลือกให้เป็น สว. 28 คน และอีก 8 คนติดบัญชีสำรอง

รัฐบาลผสม 314 เสียง ภายใต้การนำของ เศรษฐา ทวีสิน ประกาศนโยบาย “จัดทำรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย” โดยแกนนำเพื่อไทยเคยระบุว่าจะขอมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ทำประชามติเปิดทางแก้ไขรัฐธรรมนูญในการประชุม ครม. นัดแรก ทว่า 9 เดือนผ่านไป กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญยังไม่ได้เริ่มต้น “นับหนึ่ง” สถานะล่าสุดของเรื่องนี้คือ รัฐบาลขอรอให้มีการแก้ไขกฎหมายประชามติ ก่อนเริ่มแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ปัจจุบันมีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ.... ค้างอยู่ในรัฐสภาอย่างน้อย 2 ฉบับ โดยประธานรัฐสภายังไม่บรรจุระเบียบวาระ ฉบับแรกเป็นของพรรคเพื่อไทย (พท.) มี ชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค เป็นเจ้าของร่าง อีกฉบับเสนอโดยพรรคก้าวไกล (ก.ก.) นำโดย พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรค โดยทั้ง 2 ฉบับมีหลักการตรงกันคือ ให้เพิ่มหมวด 15/1 (การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) และแก้ไขมาตรา 256 (การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ)

ร่าง กม. อย่างน้อย 8 ฉบับรอคิวส่งให้วุฒิฯ กลั่นกรอง

สว. ยังมีหน้าที่และอำนาจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โดยสามารถ “เห็นชอบ” ตามที่สภาผู้แทนราษฎรส่งมา หรือ “แก้ไขเพิ่มเติม” แล้วส่งกลับสภาล่างได้ หรือถ้าไม่เห็นชอบด้วยกับสภาผู้แทนฯ ก็มีสิทธิ “ยับยั้ง” ร่าง พ.ร.บ. นั้นไว้ก่อน และส่งร่างกลับสภาผู้แทนฯ เพื่อตั้ง กมธ.ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ฉบับนั้น ๆ โดยที่สภาล่างสามารถยืนยันร่างเดิมตัวเอง หรือจะใช้ร่าง กมธ. ร่วมฯ ก็ได้

ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ของวุฒิสภา แบ่งเป็น 3 วาระเช่นเดียวกับสภาผู้แทนฯ โดยวาระที่ 1 พิจารณาและลงมติว่าจะรับร่างกฎหมายไว้พิจารณา หรือไม่เห็นชอบกับสภาผู้แทนฯ วาระที่ 2 พิจารณารายละเอียดโดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ที่วุฒิสภาตั้งขึ้น ก่อนนำร่างที่ กมธ. พิจารณาแล้วเสร็จกลับมาให้วุฒิสภาลงมติเป็นรายมาตรา วาระที่ 3 ลงมติว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วยกับสภาผู้แทนฯ ว่าสมควรประกาศใช้เป็นกฎหมายหรือไม่

เปิดภารกิจเร่งด่วนของ 200 สว. “ชุดกติกาพิสดาร”

นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ฟังการอภิปรายงบประมาณปี 2568 ในระหว่างการประชุมสภาผู้แทนฯ 19-21 มิ.ย.

กฎหมายสำคัญฉบับแรก ๆ ที่วุฒิสภาต้องพิจารณา หนีไม่พ้น

  • ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท ของรัฐบาล “เศรษฐา” ซึ่งผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนฯ ในวาระที่ 1 เมื่อ 21 มิ.ย. และอยู่ระหว่างการพิจารณาวาระที่ 2 ในชั้น กมธ. วิสามัญพิจารณาร่างฯ ก่อนกลับเข้าสภาเพื่อพิจารณาและลงมติในวาระ 2-3 และคาดว่าจะส่งร่างให้วุฒิสภาพิจารณาได้ในเดือน ก.ย. นี้ ทั้งนี้วุฒิสภาต้องให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบภายใน 20 วันนับแต่วันที่ร่างมาถึงวุฒิสภา โดยจะแก้ไขเพิ่มเติมใด ๆ มิได้
  • ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จำนวน 4 ฉบับ (เสนอโดย ครม., พรรคเพื่อไทย, พรรคก้าวไกล, พรรคภูมิใจไทย แต่ใช้ร่างของรัฐบาลเป็นร่างหลัก) ซึ่งผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนฯ ในวาระที่ 1 เมื่อ 18 มิ.ย. โดย กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างฯ เรียกประชุมนัดแรก 3 ก.ค. ก่อนนำร่างกลับเข้าสภาเพื่อพิจารณาในวาระ 2-3 โดยคาดว่าจะส่งร่างให้วุฒิสภาพิจารณาได้ในเดือน ส.ค. นี้ ทั้งนี้วุฒิสภาต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่ร่างมาถึงวุฒิสภา สำหรับหลักการสำคัญของร่างกฎหมายนี้เป็นการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติปี 2564 ให้ยกเลิก “เสียงเกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้น” (Double Majority) และให้จัดประชามติวันเดียวกับวันเลือกตั้งได้

นอกจากนี้ยังมีร่างกฎหมายอื่น ๆ อีกอย่างน้อย 6 ฉบับที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนฯ หลังผ่านวาระรับหลักการไปแล้ว หากสภาผู้แทนฯ ผ่านวาระ 2-3 สว. ชุดใหม่ก็จะต้องรับร่างมากลั่นกรองต่อไป อาทิ ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด, ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์, ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิก พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534, ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง, ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558

เปิดภารกิจเร่งด่วนของ 200 สว. “ชุดกติกาพิสดาร”

สว. ยังมีอำนาจร่วมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ร่วมกับ สส. ด้วย เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้ทำในที่ประชุมร่วมกับของรัฐสภา ซึ่งหากมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 21 และประกาศใช้ได้จริง ก็จะมีการจัดทำ พ.ร.ป. ราว 10 ฉบับหลังจากนั้น

ตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล

ด้านการตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล แม้ สว. ไร้อำนาจในการขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล แต่พวกเขาสามารถขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภาเพื่อให้ ครม. แถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหาราชการแผ่นดินโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 153 ได้ เหมือนที่ 250 สว. เคยทำกับรัฐบาลเศรษฐาครั้งแรกและครั้งเดียวในช่วง 5 ปีที่มีอำนาจ อย่างไรก็ตามการขอเปิดอภิปรายทั่วไป ต้องล่าชื่อ สว. ได้ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 เพื่อเสนอยื่นญัตติ

นอกจากนี้ สว. ยังสามารถตั้งกระทู้ถามรัฐบาลได้เหมือนกับ สส. ไม่ว่าจะเป็น กระทู้ถามด้วยวาจา หรือกระทู้ถามเป็นหนังสือ เพื่อให้รัฐบาลตอบในที่ประชุมวุฒิสภา หรือให้ตอบในราชกิจจานุเบกษา

OTHER NEWS

1 hour ago

นาทีชีวิต "ลูกค้าฝรั่ง" สำลักอาหารในร้านก๋วยเตี๋ยว โชคดีเจ้าของร้านช่วยไว้ทัน

1 hour ago

ก๊อต จิรายุ เผยสถานะหัวใจล่าสุด เคยทุกข์เพราะมีชื่อเสียง แต่ไม่มีความสุข

1 hour ago

อย.ออกประกาศหนุนการกล่าวอ้างทางสุขภาพ ‘อาหารฟังก์ชัน’ หวังสร้างมูลค่าเศรษฐกิจไทย

1 hour ago

ได้ใจโซเชียล ชายจีนร่างเล็กสูง 1 เมตร ช่วยเด็ก 3 ขวบติดบ่อน้ำลึก เสียงปรบมือลั่น

1 hour ago

บทบาทที่โตขึ้นของ ‘มิ้นต์ ชาลิดา’ กับชีวิตที่บาลานซ์ได้อย่างลงตัว

1 hour ago

ธัญญ่า อาร์สยาม อัพเดตหลังต้องแอดมิตด่วน เจอภาวะเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด อาโล่ เฝ้าไม่ห่าง

1 hour ago

สาวภูเก็ตเมา เรียกแอปกลับที่พัก ตื่นมาอีกทีเจอโชเฟอร์นอนอยู่ข้างๆ

1 hour ago

Kidult เมื่อ ผู้ใหญ่ใจเด็ก ทำตลาดของเล่นโต ทำรายได้เกือบ 2 หมื่นล้าน

1 hour ago

Audi RS 5 Coupe Competition แรงจัด กระด้างนิดๆ ถูกใจสายสปอร์ต

1 hour ago

ตรวจหวยล่าสุด ผลสลากออมสิน -สลากกินแบ่งรัฐบาล ลอตเตอรี่ งวดวันที่ 1 ก.ค.67

1 hour ago

ปู่วัย82 เผยเคล็ดลับแค่ 'กินซุป' ทุกวัน อายยุืน-ไม่เคยป่วย วัตถุดิบหาซื้อง่ายไม่แพง

2 hrs ago

เศรษฐกิจไทย: จากวิกฤตต้มยำกุ้งสู่ภาวะ “ป่วยเรื้อรัง”

2 hrs ago

เลขา ป.ป.ช.แจงชี้มูล 'ชาญ' ตั้งแต่ปี 55 เรื่องอยู่ในศาล โยน มท.ดำเนินการต่อ

2 hrs ago

‘เศรษฐา’ เผย ‘อนุทิน’ ชงจัด ครม.สัญจร ครั้งต่อไป ที่ อยุธยา

2 hrs ago

ทุ่มงบฯ กว่า 249 ล้าน เดินหน้า 16 โครงการพัฒนากลุ่มจังหวัดอีสานล่าง

2 hrs ago

เปิดคำสั่งตั้งกรรมการสอบ "วีเอท อินเตอร์เทรดดิ้ง"ผู้ชนะประมูลข้าว 10 ปี

2 hrs ago

แม่ ‘แอฟ ทักษอร’ เปิดจุดชนะใจให้ไฟเขียว ‘นนกุล’ คบลูกสาว

2 hrs ago

ชื่นชม ครูเข้าใจเด็ก เผยเหตุผลอนุญาตให้ลาไปทำงาน ยันไม่กระทบการเรียน

2 hrs ago

รู้จัก 3 เซนเซอร์กล้องใหม่ซัมซุง ISOCELL HP9, GNJ, และ JN5

2 hrs ago

เศรษฐา ลั่น รบ.พร้อมให้ตรวจสอบ หลังฝ่ายค้านเปรยจ่อยื่นเปิดซักฟอก

2 hrs ago

สมการรอคอย 5 ปี "ไอยู" โชว์พลังโวคอลฉบับตัวท็อป หูเคลือบเพชร! ทั้งคอนฯ

2 hrs ago

"อัจฉริยะ" ร้องกองปราบ รื้อคดียิงรถบิ๊กโจ๊ก เป็นห่วงมีศัตรูรอบตัว

2 hrs ago

ถึงป่วยแต่ใจมา! ‘แตงกวา กษมา’ เฉิดฉายรอบพรีลิมฯ ‘โจ้ ชลวิศว์’ หล่อออร่าจับบนเวที Miss & Mister Supranational 2024

2 hrs ago

"MyMo" ล่มแต่เช้า! ธนาคารออมสินแจง เพราะมีผู้ใช้งานจำนวนมาก

2 hrs ago

พบคลังอาวุธ ปืน-กระสุนเพียบ ซุกเกสต์เฮาส์-แหล่งปาร์ตี้ยา ตร.บุกค้นตะลึง

2 hrs ago

เตือนคนชอบปลูกต้นไม้ หลังหญิงวัย 64 ติดเชื้อวัณโรคเทียมจากการเทปุ๋ยคอก

2 hrs ago

ทำไมคนฝรั่งเศสหันมาเลือก "พรรคฝ่ายขวาจัด" ?

2 hrs ago

ปีทองของ ลำไย ไหทองคำ เปิดคิวงานแน่นจัด ก.ค. เดือนเดียวฟาดไป 51 คิว

2 hrs ago

ครม.สัญจรป่วน ม็อบโปแตชโคราช ปิดทางเข้าประชุม

2 hrs ago

สำรวจปลากระเบน ลำน้ำโขง เสี่ยงสูญพันธุ์ ปัจจัยเสี่ยงเพียบ น้ำขึ้นลง กระทบวงจรชีวิต

2 hrs ago

สาว LGBTQ คลั่งในห้างไต้หวัน สบถคำไทยชัดแจ๋ว เถียงกันสนั่น คนไทยหรือเปล่า

2 hrs ago

Uptick ได้ผล ต่างชาติพลิกซื้อ 338 ล้าน Short Sell ลดกว่า 79% จากค่าเฉลี่ยปี 67

2 hrs ago

Huawei เปิดตัว 5G-A Pioneers Program ครั้งแรกในโลก ปลดล็อกประสิทธิภาพ 5.5G ดีขึ้นกว่าเดิม 10 เท่า

2 hrs ago

โรนัลโด้ หลั่งน้ำตาหลังพลาดจุดโทษในเกม แต่ มาร์ติเนซ ชื่นชมความกล้าลุกมายิงคนแรกช่วงตัดสิน

2 hrs ago

เตรียมส่อง "ปรากฏการณ์ท้องฟ้า" เดือนกรกฎาคม 2567 รอชม "ฝนดาวตกเดลตาอควอริดส์"

2 hrs ago

‘ดร.สันติธาร’ เผยผลประชุมผู้นำโลก WEF ที่จีน ชี้ใครได้เสีย ลั่นภูมิใจทีมไทยแลนด์

2 hrs ago

น่าห่วง! เด็กไทยหลุดจากการศึกษาทะลุ 1 ล้านคน

2 hrs ago

คัด 5 หุ้นเด่นได้ประโยชน์ลงทุน DATA CENTER-CLOUD SERVICE

2 hrs ago

ไอยู โชว์พลังเสียง สมมง “โวคอลควีน” เซอร์ไพรส์ร้องเพลงไทยชัดเว่อร์

2 hrs ago

ปาฏิหาริย์สิงโตคำราม ในวันที่แย่ แต่ก็ยังดีพอ